
การทำฟัน โดยเฉพาะปัจจุบันต้องไม่มีความเจ็บปวดหรือ สร้างความทรมานจนเกินกว่าจะทนได้ให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะการถอนฟัน การผ่าฟันคุด หรือการทำศัลยกรรมต่างๆที่ต้องไปยุ่งกับเนื้อเยื่อในช่องปาก หรือแม้กระทั่งการอุดฟันที่ค่อนข้างลึกมากๆ เกือบถึงโพรงประสาทฟัน ก็อาจจะต้องอาศัยการฉีดยาชา เพื่อระงับความเจ็บปวดเฉพาะที่

ซึ่งการฉีดยาชาเฉพาะที่ในทางทันตกรรม คุณหมอฟันจะทำการฉีดยาชาโดย
ฟันบนจะฉีดยาชาบริเวณฟันที่จะถอนหรือทำศัลยกรรม ทั้งด้านแก้มและด้านเพดาน ส่วนใหญ่แล้วฟันบนจะชาค่อนข้างเร็ว แต่เวลาฉีดบริเวณเพดาน ตอนเดินยาจะค่อนข้างเจ็บนิดนึง ไม่ต้องกังวลไปครับ ไม่ได้เจ็บมากเกินที่เราจะทนได้

ส่วนฟันล่างคุณหมอจะทำให้ชาโดยการบล๊อคเส้นประสาท โดยถ้าเป็นฟันล่างถ้าชาแล้ว จะชาที่บริเวณริมฝีปากล่างครึ่งหนึ่ง ลิ้นครึ่งหนึ่ง และแก้ม ในด้านที่จะทำหัตถการครับ
เราจะทราบได้อย่างไร ว่าเราชาแล้วจริงๆ
หลังจากฉีดยาชาแล้ว คุณหมอจะทดสอบว่าชาหรือไม่ โดยใช้ปลายแหลมของเครื่องมือ บอกไว้ก่อนเลยว่า เวลาใช้เครื่องมือทดสอบจิ้มๆเบาๆหรือทำหัตถการเบาๆลงไปบริเวณนั้น เราจะรู้สึกถึงแรงกด แรงดัน ฟันขยับอยู่ แต่เราจะไม่รู้สึกถึงปลายแหลม หรือเจ็บจี๊ดในบริเวณที่ชาแล้วนะครับ
ถ้าชาแล้วจะไม่เจ็บ แต่ตัวคนไข้จะยังรู้สึกว่า มีอะไรทู่ๆ มากดบริเวณนั้น ไม่เจ็บ แต่ยังรู้สึกถึงแรงกด แรงดัน รู้สึกว่าฟันขยับอยู่
อันนี้คือชาแล้วนะครับ

ถ้ายังรู้สึกเจ็บจี๊ดอยู่
ถ้าเจ็บหรือมีปัญหา ให้ยกมือซ้าย อย่าสะบัดหน้า หรือเอามือมาปัด หรืออกเสียงใดๆ คุณหมอจะหยุดทำแล้วสอบถามถึงอาการ ทำไมต้องยกมือซ้าย ก็เพราะถ้ายกมือขวาจะโดนเครื่องมือของคุณหมอ เครื่องมือ เช่นหัวกรอ หัวขัด ทุกอย่างจะอยู่ด้านขวามือของคนไข้ ยกมือซ้าย ตรงๆ อย่าเอามือขึ้นมาปัดนะครับ เครื่องมือทำฟันบางอย่างจะคมมาก
ที่สำคัญคือ เราต้องพยายามอย่าเกร็ง แยกให้ออกว่า ถูกกด ถูกดัน กับเจ็บจี๊ด ต่างกันอย่างไร เพราะเราไม่ได้ดมยาสลบ ยาชาเป็นเพียงระงับความเจ็บปวดเฉพาะที่เท่านั้นนะครับ
