
บาลากู่ หรือบางคนบางที่จะเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น hubble-bubble, shisha หรือ goza ผิดกฎหมายและอันตรายกับสุขภาพโดยรวม แต่ยังมีผู้ลักลอบสูบอยู่ตามภาพข่าวต่างๆ ผมจึงอยากแชร์ข้อมูลถึงการสูบบาลากู่กับผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในช่องปากของเรา ว่ามันต่างจากการสูบบุหรี่มากน้อยแค่ไหน เผื่อถ้าตัวเรา หรือเพื่อน คนใกล้ตัวอยากสั่งจากเวปไซต์ หรือต่างประเทศ จะได้มีข้อมูลเบื้องต้นเพื่อการตัดสินใจหรือบอกกล่าวกันนะครับ
จากงานวิจัยในปี 2015 เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบาลากู่ และสภาวะของอวัยวะบริเวณศีรษะและลำคอ* พบว่า การสูบบารากู่สัมพันธ์กับโรคเหงือก มะเร็งในช่องปาก และอาการปวดแผลถอนฟันอย่างรุนแรง “กระดูกเบ้าฟันอักเสบ รวมไปถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด และมะเร็งปอดด้วย
เชื่อไหมว่าในสหรัฐ ผลการศึกษาพบว่า มี 2.3 ล้านคน ที่สูบบาลากู่ ปัจจุบันเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น และสูบกันเป็นกลุ่มๆ น้องๆอายุ 13-25 ปี เคยสูบบาลากู่มากถึง 34% เและน้องๆที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัย 20 % เคยลองสูบ
สำหรับการสูบบาลากู่ต่างกันอย่างไรกับการสูบบุหรี่ บาลากู่มีใบยาสูบชนิดพิเศษที่ใช้สูบ มีหลายรสชาติ การสูบโดยทำการเผา และสูดควันผ่านท่อที่ต่อจากกระบอกน้ำ โดยการสูบแต่ละครั้งจะใช้เวลามากถึง 80 นาที สูบได้ 50-200 ครั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับการสูบบุหรี่แบบมวน โดยเฉลี่ยสูบมวนละ 5-7 นาที และสูบได้ 40-75 ครั้ง
องค์การอนามัยโลก รายงานว่าการสูบบาลากู่ 1 ช่วงเวลาจนหมด เท่ากับการสูบบุหรี่ 100 มวน
แต่ไม่ว่าจะสูบบุหรี่หรือ บาลากู่ หรือ ยาสูบ ก็เกิดผลเสียต่อร่างกายและช่องปากได้เช่นกันนะครับ

ผลของการสูบจะเกิดโทษต่างๆกับช่องปากดังนี้
-ฟันและลิ้นติดคราบ
-มีการรับรสและรับกลิ่นเปลี่ยนไป
-แผลถอนฟันหรือศัลยกรรมใดๆในช่องปากเช่น ผ่าฟันคุด เหล่านี้ แผลจะหายช้า
-ยากต่อการทำทันตกรรมเพื่อความสวยงาม
-เป็นโรคเหงือกอักเสบ โรครำมะนาด

-เป็นโรคมะเร็ง
ปัจจุบัน บาลากู่ บาลากู่ไฟฟ้า ผิดกฎหมาย จากคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” ลงวันที่ 28 มกราคม 2558 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับนะครับ
*Association between tobacco waterpipe smoking and head and neck conditions.Munshi, Teja et al.The Journal of the American Dental Association, Volume 146, Issue 10, 760 – 766
ข้อมูลจาก
-American Dental Association
-Mouthhealthy
-ไทยรัฐออนไลน์