
บทความนี้ไม่มีสปอนเซอร์ใดๆทั้งสิ้น
แปรงซอกฟัน บางท่านอาจจะงงๆ ว่าคืออะไร เพราะรู้จักแต่แปรงสีฟัน และไหมขัดฟันใช่ไหมครับ จริงๆแปรงซอกฟันเริ่มใช้มานานแล้วก่อนปี 2519 และมีการศึกษาวิจัยพบว่า สามารถกำจัดคราบพลัคหรือแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่อยู่ใต้เหงือกประะมาณ 2-2.5 มิลลิเมตรครับ
รูปร่างของแปรงซอกฟันจะคล้ายๆแปรงล้างขวดเล็กๆ ตรงกลางแกนจะเป็นโลหะสแตนเลสสตีล และมีไนลอนเป็นขนแปรงเล็กๆอยู่รอบๆแกน
จริงๆแปรงซอกฟันชิ้นเล็กๆ แต่ให้ผลดีมากครับ สำหรับท่านที่ใช้ มีการศึกษาวิจัยถึงประสิทธิผลของการใช้แปรงซอกฟัน บางรายงานพบว่าสามารถขจัดคราบพลัคได้ดีระหว่างซอกฟัน และกำจัดคราบพลัคได้ดีกว่าการใช้ไหมขัดฟันหรือไม้จิ้มฟัน (Wood sticks)* ด้วยซ้ำ

*European Federation of Periodontology 2015 workshop
แปรงซอกฟัน เหมาะสำหรับ
– ท่านที่มีช่องระหว่างฟัน หรือมีร่องฟันตรงกลางระหว่างฟันร่น
– ท่านที่ต้องการทำความสะอาดบริเวณที่รากฟันโผล่หรือมีสามเหลี่ยมระหว่างฟันร่น
-คนไข้ที่มีเครื่องมือจัดฟัน
-คนที่มีฟันเทียมติดแน่น รากเทียม
การเลือกซื้อแปรงซอกฟัน
การเลือกแปรงซอกฟันที่เหมาะสม มีผลต่อประสิทธิภาพในการทำความสะอาด อย่างแรกคือ
การเลือกขนาดที่เหมาะสม มีการศึกษาพบว่าช่องว่างระหว่างฟันกับขนาดที่พอดี บางท่านอาจจะใช้เล็กกว่าช่องว่างระหว่างฟัน ควรเลือกขนาดที่พอดี ตามความเหมาะสม หรือสอบถามทันตแพทย์ ช่วยประเมินได้ การเลือกขนาดที่เหมาะสมจะทำให้กำจัดคราบจุลินทรีย์ได้ดีในระหว่างฟัน ลดการเกิดเลือดออกจากการอักเสบของเหงือกได้ถึง 46 % ในสัปดาห์แรกและ 72 % หลังจากใช้ต่อเนื่อง 3 เดือน


รูปร่างและด้ามจับของแปรงซอกฟัน มีรายงานวิจัยพบว่าการใช้แปรงซอกฟันที่ตรง จะให้ผลในการกำจัดคราบจุลินทรีย์ระหว่างฟันได้ดีกว่าแปรงซอกฟันที่เป็นมุมและมีด้ามจับยาว แต่จริงๆก็สามารถใช้ได้แล้วแต่ความสะดวกและความถนัดได้เลยครับ หรือลองปรึกษาทันตแพทย์ว่าแบบไหนจะเหมาะกับคุณที่สุด

ลักษณะของขนแปรง มีรายงานวิจัยพบว่าขนแปรงทรงโค้งตรงกลาง (คล้ายเอวเอส) จะทำความสะอาดได้ดีกว่าขนแปรงตรง ส่วนทรงสามเหลี่ยมหรือต้นสนก็ใช้ได้ดีสำหรับช่องว่างระหว่างฟันในหลายๆแบบ
สำหรับที่ผมพบส่วนใหญ่ที่มีขายในบ้านเรา จะมีแค่รูปทรงตรง กับสามเหลี่ยม ส่วนแบบโค้งตรงกลางหรือเอวเอส ยังไม่พบว่ามีขายโดยทั่วไป ดังนั้นสิ่งที่ควรพิจารณาคือ ควรเลือกซื้อแบบที่พอดีกับช่องว่างระหว่างฟันที่เราต้องการทำความสะอาดครับ


Chongcharoen N, Lulic M, Lang NP. Effectiveness of different interdental brushes on cleaning the interproximal surfaces of teeth and implants: a randomized controlled, double-blind cross-over study. Clin Oral Implants Res. 2012;23(5):635-640.
วัสดุที่ทำ บางครั้งโลหะที่เป็นแกนกลางอาจจะไม่เหมาะกับคนที่เสียวฟันง่ายที่บริเวณช่องว่างตรงรากฟัน (Sensitive root surface) แปรงซอกฟันที่ทำจากยางหรือไม้ ตอนนี้มีการเริ่มพัฒนาที่จะนำมาให้เพื่อทดแทนแปรงซอกฟันแบบเดิม แต่แปรงซอกฟันแบบเดิมที่มีก้านเป็นโลหะ ก็ยังได้ผลการทำความสะอาดที่ดีและยังเป็นที่ยอมรับโดยกว้างขวางอยู่

บางชนิดของแปรงซอกฟัน มีการเคลือบน้ำยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย จำพวก 0.12% คลอเฮกซิดีน หรือ เคลือบด้วยสารลดการเสียวฟันที่ขนแปรง บางชนิดก็เคลือบลวดหรือไม่เคลือบ คนไข้ที่มีรากเทียมให้ระวังในการใช้แปรงซอกฟันที่มีโลหะ แนะนำให้ใช้กับแปรงซอกฟันที่มีหุ้มไนลอนหรือพลาสติก เพื่อป้องการการขูดขีดรากเทียม
ความปลอดภัยในการใช้แปรงซอกฟัน
ยังไม่มีรายงานวิจัยที่พบว่าแปรงซอกฟัน มีอันตรายกับเหงือก หรือ ผลเสียต่อเนื่อเยื้อในช่องปาก
วิธีการใช้งาน
-จับแบบปากกา
-สอดเข้าไประหว่างซอกฟันช้าๆ ถ้าสอดเข้าไปไม่ได้หรือติดเนื่องจากระหว่างฟันไม่มีร่องหรือฟันชิดกันมาก แนะนำให้ใช้ไหมขัดฟันแทนครับ
-หลังจากสอดเข้าไประหว่างซอกฟันที่เป็นช่องได้แล้ว ให้ขยับเบา 2-3 ครั้ง ให้โดนผิวฟันด้านข้างทั้งสองซี่ ถ้าเป็นฟันกรามควรสอดแปรงซอกฟันทั้งด้านแก้มและด้านลิ้น

-ล้างผ่านน้ำสะอาดก่อนทำความสะอาดจุดใหม่
-หากคุณไม่เคยใช้ ถ้ามีเลือดออกไม่ต้องตกใจ แสดงว่าเหงือกอักเสบ ให้ใช้ต่อเนื่อง 1-2 สัปดาห์อาการเลือดออกจะหายไป ถ้าไม่หายควรปรึกษาทันตแพทย์
-ล้างทำความสะอาด หลังจากทำความสะอาดเสร็จ ผึ่งลมให้แห้ง
-ไม่ต้องใช้ร่วมกับยาสีฟัน หรือ น้ำยาบ้วนปาก ควรใช้ก่อนแปรงฟัน หรือภายใต้คำแนะนำของทันตแพทย์ตามความเหมาะสม
-ใช้ซ้ำจนกว่าขนแปรงจะชำรุด
แค่นี้เองครับง่ายๆ ใครเข้าข่ายที่ต้องใช้แปรงซอกฟัน ลองปรึกษาทันตแพทย์ก่อนใช้ หรือทดลองใช้ได้เลยครับ