
อาการปวดแผลถอนฟันในกรณีฟันแท้อย่างรุนแรงเรียกว่า “กระดูกเบ้าฟันอักเสบ” หรือ Dry Socket
อาการกระดูกเบ้าฟันอักเสบ เป็นอาการปวดแผลถอนฟันอย่างรุนแรงในกรณีถอนฟันแท้ รวมทั้งหลังจากผ่าฟันคุด โดยจะมีอาการวันที่ 3 หรือ 4 หลังจากถอนหรือผ่าฟันคุด นะครับ ดังนั้นหากท่านใดถอนฟันหรือผ่าไปคุดไปแล้ว ปวดรุนแรง ทานยาแก้ปวดหรือยาปฎิชีวนะที่คุณหมอฟันหรือเภสัชกรจ่ายให้แล้วอาการไม่ดีขึ้นเลย ลองอ่านดูนะครับ

โดยการหายตามปกติของแผลถอนฟัน จะมีลิ่มเลือดมาปิดกระดูกและปลายประสาทที่อยู่ในแผลถอนฟัน อีกทั้งลิ่มเลือดเหล่านี้ยังช่วยให้เกิดการสร้างกระดูกและเนื้อเยื่อขึ้นมาใหม่ทดแทนช่องว่างของฟันที่ถูกถอนไป
กระดูกเบ้าฟันอักเสบ จึงเกิดขึ้น หากลิ่มเลือดที่ปกคลุมแผลหลุดออกไป หรือไม่เกิดขึ้นในระหว่างการหายของแผลถอนฟัน และเมื่อไม่มีลิ่มเลือด กระดูกและปลายประสาทที่อยู่ในเบ้าฟันที่ถูกถอนก็จะไม่มีอะไรมาปกคลุม ทำให้เกิดอาการปวดอย่างมากบริเวณแผลและอาจลุกลามไปยังเส้นประสาทบริเวณใบหน้าด้วย

การซื้อยาในร้านขายยาเพื่อบรรเทาอาการปวด จะไม่ได้ช่วยลดอาการปวดแต่อย่างใด คุณควรกลับไปให้ทันตแพทย์รักษาอาการ เพื่อลดอาการปวดและช่วยให้เกิดการหายของแผล โดยคุณหมอจะทำการใส่ยาให้บริเวณหลุมฟัน เพื่อให้เกิดหารหายปกติของแผลถอนฟัน และ/หรือจะนัดมาดูอาการ ทำความสะอาดแผลต่อไป

อาการของกระดูกเบ้าฟันอักเสบ
-ปวดมากๆ หลังจากถอนฟันหรือผ่าฟันคุด 3-4 วัน
-มีลิ่มเลือดคลุมแผลถอนฟันบางส่วนหรือไม่มีเลย โดยสามารถสังเกตได้จากการดูที่แผลถอนฟัน (เห็นกระดูกโผล่)
-อาการปวดอาจลุมกลามไปยังบริเวณกกหู ใต้ตา คอ ในด้านที่ฟันถูกถอนไป
-มีกลิ่นปากรุนแรง
-ทานอาหารรสชาติผิดเพี้ยนไป
-ต่อมน้ำเหลืองโต
-มีไข้
เมื่อไหร่ที่คุณควรไปพบทันตแพทย์
อาการปวดแผลถอนฟันหรืออาการบวมปวดแผลฟันคุดเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตามหากคุณทานยาที่คุณหมอสั่งจ่ายให้ และสามารถบรรเทาอาการปวดได้ ก็ไม่ต้องตกใจ แต่หากอาการปวดไม่ดีขึ้นหรือไม่ลดลงเลย แม้กระทั่งทานยา ก็ควรรีบไปพบทันตแพทย์
สาเหตุของอาการกระดูกเบ้าฟันอักเสบ
สาเหตุของอาการกระดูกเบ้าฟันอักเสบ ยังกำลังศึกษาถึงสาเหตุหลัก แต่จากงานวิจัยที่พบขณะนี้ อาจจะเกิดจาก
-ติดเชื้อแบคทีเรียในแผลถอนฟัน
-มีกระดูกหรือเนื้อเยื่อได้รับการบาดเจ็บ/ชอกช้ำ ในขณะที่ถอนฟันแบบยาก
-มีกระดูกแตกหรือชิ้นส่วนฟันชิ้นเล็กๆหลงเหลือในเบ้าฟัน
ปัจจัยเสี่ยง
-คนที่สูบบุหรี่ สารเคมีในบุหรี่จะรบกวนการหายของแผลถอนฟัน และการสูบบุหรี่ จะเพิ่มความดันในช่องปากขณะสูบและทำให้ลิ่มเลือดหลุดออกมาจากแผลถอนฟันได้ง่าย
-มีสุขภาพช่องปากไม่สะอาด เช่น มีฟันผุมาก เหงือกอักเสบรุนแรง มีตอฟัน
-ยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน ในคนที่ทานยาคุมกำเนิดจะมีเอสโตรเจนสูง ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดได้ง่ายกว่าคนปกติ
-การดูแลตัวเองที่ไม่ถูกต้อง คนไข้บางท่านไม่ดูแลตัวเองตามที่คุณหมอแนะนำ เช่นเอาอะไรไปเขี่ยแผลถอนฟัน ทำให้รบกวนการหายของแผลถอนฟันได้
-มีประวัติเคยมีอาการกระดูกเบ้าฟันอักเสบมาก่อน
-มีการติดเชื้อที่เหงือกและฟัน
-ได้รับยาคอร์ติโคสเตียรอย (corticosteroids) เช่น prednisone ทำให้เพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น
เอาละครับ อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะจากการศึกษาของคนไทยพบอุบัติการณ์การเกิดกระดูกเบ้าฟันอักเสบเพียง 2.8 % เท่านั้น พบเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ขากกรไกรล่างมากกว่าขากรรไกรบน ส่วนใหญ่เกิดจากการผ่าฟันคุด
หากมีอาการตามที่บอกควรรีบกลับไปพบคุณหมอทันทีเพื่อระงับอาการปวดและให้แผลหายโดยเร็วนะครับ ….
เอกสารอ้างอิงเพิ่มเติม
-ชัยวัฒน์ ปิ่นน้อยและ ไมตรี แสงนาค,อุบัติการการเกิดกระดูกเบ้าฟันอักเสบ–การศึกษาทางคลินิก,วารสารทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย;ปีที่21 เล่มที่ 1 เดือน ม.ค.-เม.ย. พ.ศ. 2541 หน้าที่ 19-29
-Sheridan PJ (expert opinion). Mayo Clinic, Rochester, Minn. June 26, 2013.